top of page
Search
  • Writer's pictureYing Prapasiri

เฮอริเคน

Updated: Jul 12, 2019

แรงลมกรรโชก ฝนกระหน่ำ คลื่นกลืนกิน นี่คือสัญญาณมรณะของเฮอร์ริเคน …

พายุเฮอร์ริเคน (hurricane) คือพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในมหาสมุทรแอตแลนติก เหนือทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก และในมหาสมุทรแปซิฟิก แถบฝั่งทะเลด้านตะวันตกของประเทศเม็กซิโก พายุเช่นเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและในทะเลจีนใต้เรียกว่า ไต้ฝุ่น (typhoon) หากเกิดในอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดียเรียกว่า ไซโคลน (cyclone) โดยพายุเฮอร์ริเคนลูกหนึ่งอาจปลดปล่อยพลังงานในหนึ่งวันเทียบเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ขนาดเล็กถึง 500,000 ลูก

พายุเฮอร์ริเคนก่อตัวขึ้นในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง  เมื่อดวงอาทิตย์ทำให้ผืนน้ำกว้างใหญ่ในเขตร้อนอุ่นขึ้นกว่า 27 องศาเซลเซียส (82 องศาฟาเรนไฮต์)

อากาศที่อุ่นและชื้นลอยตัวสูงขึ้นเหนือจุดร้อนเหล่านี้ ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ขณะที่อากาศในระดับสูงขึ้นไปและอากาศเหนือพื้นผิวมารวมตัวกัน ก่อให้เกิดรูปแบบการเคลื่อนที่แบบวงกลมของกลุ่มเมฆที่รู้จักกันในชื่อ พายุดีเปรสชัน (tropical depression) หรือพายุหมุนกำลังอ่อน

เมื่อกำลังลมมีความเร็วมากกว่า 39 ไมล์ต่อชั่วโมง (62 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) พายุโซนร้อน (tropical storm) ก็ก่อตัวขึ้น และหากกำลังลมทวีขึ้นเป็น 74  ไมล์ต่อชั่วโมง (119 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) พายุเฮอร์ริเคนก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

ภายในพายุ แถบฝนยาวถึง 300 ไมล์ (482 กิโลเมตร) มาบรรจบกันที่กำแพงดวงตาพายุ (eye wall) ซึ่งเป็นบริเวณที่สภาพอากาศปั่นป่วนรุนแรงที่สุด  และกระแสลมหมุนวนขึ้นอาจมีความเร็วสูงถึง 200 ไมล์ต่อชั่วโมง (321 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

ขณะที่ภายในศูนย์กลางของพายุเฮอร์ริเคน กระแสอากาศแห้งที่ไหลลงสู่ด้านล่างก่อให้เกิดบริเวณที่มีลมอ่อนหรือค่อนข้างสงบอย่างน่าประหลาดเรียกว่า “ตาพายุ” (eye of storm)

พายุเฮอร์ริเคนที่พัฒนาเต็มที่อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างถึง 500 ไมล์ (กว่า 800 กิโลเมตร) และอาจมีความสูงถึง 9 ไมล์ (14 กิโลเมตร)

ขณะที่พายุส่วนใหญ่เคลื่อนตัวออกสู่ทะเลเปิด แต่โดยเฉลี่ยในแต่ละปี  พายุเฮอร์ริคาน 2-3  ลูกจะเคลื่อนขึ้นฝั่งแผ่นดินใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนือ ในสถานการณ์เช่นนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจเข้าขั้นหายนะ


 
39 views0 comments

Comments


bottom of page